การกู้ยืมเงิน
ความหมาย :
การกู้ยืมเงินและสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ผู้กู้” มีความต้องการจะใช้เงินแต่ตนเองมีเงินไม่พอหรือมีเงินไปขอกู้ยืมจากบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้” และผู้กู้ตกลงจะใช้คืนภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่งการกู้ยืมจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบเงินที่ยืมให้แก่ผู้ที่ยืมในการกู้ยืมนี้ ผู้ให้กู้จะคิดดอกเบี้ยหรือไม่ก็ได้
ตัวอย่าง นายดำ ต้องการซื้อรถราคา 150,000 บาทแต่นายดำไม่มีเงิน นายดำจึงไปขอยืมเงินจากนายแดง โดยตกลงจะใช้คืนภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่กู้ยืม ดังนั้นเมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว นายดำ (ผู้กู้)ต้องใช้เงินคืนให้แก่นายทองแดง
ดอกเบี้ย :
ในการกู้ยืมเงินกันนี้ เพื่อป้องกันมิให้นายทุนบีบบังคับคนจนกฎหมายจึงได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดที่ผู้ให้กู้สามารถเรียกได้ว่าต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี คือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน (เว้นแต่เป็นการกู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหรือธนาคารซึ่งสามารถเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน)ถ้าดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าวถือว่าข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยนั้นเป็นอันเสียไปทั้งหมดคือไม่ต้องการใช้ดอกเบี้ยกันเลยและผู้ให้กู้อาจมีความผิดทางอาญาฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราด้วยคือ อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2495
หลักฐานการยืม :
ในการตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินนั้น ถ้าหากว่ากู้ยืมกันเป็นจำนวนเงินเล็กน้อยไม่เกิน 50 บาท กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือแสดงถึงการกู้ยืมหรือทำสัญญาไว้ต่อกัน เช่น ยืมเงิน 20 บาท หรือ 30 บาทแล้วแต่พูดจาตกลงกันก็พอ แต่ถ้าหากว่ากู้ยืมเป็นจำนวนเกินกว่า 50 บาทต้องทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือสัญญากู้ไว้ต่อกันเพื่อจะได้ใช้หลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาในหลักฐานแห่งการกู้เป็นหนังสือดังกล่าวนี้ต้องมีข้อความแสดงว่าได้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนเท่าใดมีกำหนดใช้คืนเมื่อใด และที่สำคัญจะต้องมีการลงลายมือชื่อผู้กู้
ตัวอย่างหลักฐานการกู้ยืมเงิน
ข้าพเจ้า นายดำได้กู้ยืมเงินจากนายสมศักดิ์เป็นจำนวน 3,000 บาท (สามพันบาท) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2530 มีกำหนดใช้คืนภายใน 1 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
ลงชื่อ ดำผู้กู้
หากว่าในขณะกู้ยืมเงินกันแต่มีการตกลงรับเอาสิ่งของแทนจำนวนเงินที่กู้ยืมกันนั้นต้องคิดราคาของตลาดของสิ่งนั้นเป็นจำนวนเงินที่กู้จริงนั้น เช่นมีการตกลงกู้ยืมเงินกัน 500 บาท แต่มีการตกลงให้รับข้าวสารแทน 2 กระสอบซึ่งในขณะนั้นข้าวสารกระสอบละ 150 บาท ดังนั้นเราถือว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริงเพียง 300 บาทเท่านั้น
อายุความ :
การฟ้องร้องเรียกเงินตามสัญญากู้จะต้องกระทำภายในกำหนดอายุความซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระคืน
ตัวอย่างแดง กู้ยืมเงินดำเมื่อ 27 มิถุนายน 2530 จำนวน 10,000 บาท เป็นเวลา 1 ปีดังนั้นหนี้รายนี้ถึงกำหนดในวันที่ 27 มิถุนายน 2531 ผู้ให้กู้ต้องฟ้องเรียกเงินที่กู้ยืมคืน ภายใน 27 มิถุนายน 2541
ข้อควรระมัดระวังในการกู้ยืม
(1) อย่าได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเป็นอันขาด
(2) อย่าได้นำโฉนดไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน
(3) จะต้องนับเงินให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา
(4) ผู้ยืมต้องเขียนตัวเงินเป็นตัวหนังสือด้วย
(5) สัญญาที่กู้ต้องทำอย่างน้อย 2 ฉบับ โดยให้กู้ยึดถือไว้ฉบับหนึ่งและให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้อีกฉบับหนึ่ง
(6) ในสัญญากู้ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอย่างน้อย 1 คน
ข้อปฏิบัติในการชำระเงิน :
เมื่อผู้กู้นำเงินไปชำระไม่ว่าจะเป็นการชำระทั้งหมดหรือบางส่วนก็ตามผู้กู้ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้มิฉะนั้นจะอ้างยันผู้ให้กู้ว่าชำระเงินกู้ให้เขาคืนแล้วไม่ได้
สิ่งที่ผู้กู้ควรกระทำเมื่อชำระเงินคือ
(1) รับใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือที่มีข้อความว่าได้ชำระเงินที่กู้มาแล้วทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนและมีลายเซ็นผู้ให้กู้กำกับไว้ด้วย
ตัวอย่าง ข้าพเจ้า นายสมศักดิ์ ร่ำรวยทรัพย์ได้รับเงินคืนจาก นายดำ เกิดมาก ผู้กู้เป็นจำนวน 5,000 บาท
ลงชื่อ สมศักดิ์ ร่ำรวยทรัพย์
ผู้ให้กู้
27 มิถุนายน 2530
(2) รับหนังสือสัญญากู้เงินที่ได้ทำไว้แก่ผู้ให้กู้คืนมาในกรณีที่ชำระเงินครบตามจำนวนเงินที่กู้
(3) มีการบันทึกลงในสัญญากู้ว่าได้นำเงินมาชำระแล้วเท่าไรและให้ผู้ให้กู้ต้องเซ็นชื่อกำกับไว้ทุกครั้งที่มีการชำระเงินจึงจะอ้างยันได้ว่าได้ชำระเงินไปแล้ว