การละเมิด
ละเมิดคืออะไร :
ละเมิดคือ การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลภายนอกโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เขา (ผู้ถูกกระทำ)เสียหายแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดีกฎหมายถือว่าผู้นั้นทำละเมิดจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดนั้น (ป.พ.พ.ม. 420)
สรุปการกระทำใดจะเป็นละเมิดต้องประกอบด้วยหลัก 3 ประการ
1. กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย
ซึ่งหมายถึงการประทุษกรรม กระทำต่อบุคคลโดยผิดกฎหมายด้วยอาการฝ่าฝืนต่อความหมายที่ห้ามไว้หรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำหรือตนมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นต้นว่า ฆ่าเขาตาย, ทำร้ายร่างกายเขา,ขับรถโดยประมาทชนคนตายและทรัพย์สินของเขาเสียหาย ฯลฯ
2. กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
กระทำโดยจงใจ คือการะทำโดยรู้สำนึกและในขณะเดียวกันก็รู้ว่าจะทำให้เขาเสียหายเช่น เจตนาฆ่าหรือเจตนาทำร้าย ฯลฯ อย่างไรก็ดีการกระทำโดยจงใจในเรื่องละเมิดถือหลักเบาบางกว่าทางอาญาสำหรับอาญานั้นต้องกระทำโดยรู้สึกสำนึกในการที่ทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลด้วยส่วนจงใจในเรื่องละเมิดบางกรณีไม่ผิดในทางอาญาแต่เป็นละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขา เช่น จำเลยรื้อห้องน้ำ ห้องครัวซึ่งโจทย์ปลูกล้ำออกไปนอกที่เช่าของวัดโดยวัดต้องการจะขุดคูได้บอกให้โจทย์รื้อแล้วโจทย์ไม่ยอมรื้อการที่จำเลยรื้อแล้วกองไว้หลังบ้านโจทย์มิได้เจตนาชั่วร้ายทำให้ทรัพย์ของโจทย์อันตรายเสียหายไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แต่เป็นละเมิด เพราะรู้ว่าแล้วว่าการรื้อนั้นจะทำให้ทรัพย์ของโจทย์เสียหาย (ฎีกาที่ 1617-1618/2500)
คำว่าประมาทเลินเล่อในทางแพ่งหมายความถึงการกระทำที่ขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายนั้นและหมายความถึงการไม่ป้องกันผลที่เกิดขึ้นโดยประมาทเลินเล่อแม้ตนเองไม่ได้กระทำให้เกิดผลนั้นขึ้นระดับความระมัดระวังของบุคคลต้องถือระดับบุคคลธรรมดา
ตัวอย่างเช่น นาย ก.ขับรถยนต์ไปในถนนที่มีคนเดินจอแจด้วยความเร็วและไม่ได้ให้สัญญาณแตรแล้วเฉี่ยวชนถูกคนเดินถนนได้รับบาดเจ็บดังนี้ถือว่า นาย ก.กระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อ
3. ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย
โดยปกติผู้กระทำต้องรับผิดเฉพาะการกระทำของตนแต่อย่างไรก็ดีในเรื่องละเมิดถ้าได้มีการกระทำละเมิดร่วมกันหรือแม้มิได้ร่วมแต่เป็นผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการกระทำละเมิดดังนี้บุคคลเหล่านี้จะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายนั้น (ป.พ.พ.ม. 432)
ในบางกรณีแม้จะไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดหรือยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการกระทำละเมิดแต่กฎหมายบัญญัติให้ต้องร่วมผิดกับผู้ละเมิดได้แก่กรณีต่อไปนี้
3.1 นายจ้างจะต้องรับผิดชอบกับลูกจ้างในผลแห่งการละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่นายจ้างนั้น (ป.พ.พ.ม. 432)
เรื่องนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำในทางการที่จ้างนี้มีกรณีที่ผู้เสียหายพึงต้องระมัดระวังคือ อย่าตัดสินใจประนีประนอมยอมความกับลูกจ้างเพราะถ้าประนีประนอมยอมความกับลูกจ้างไปแล้วหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดก็ระงับสิ้นไปเพราะสัญญาประนีประนอมยอมความเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาอันเป็นเหตุให้นายจ้างพ้นจากความรับผิดผู้เสียหายจะต้องฟ้องนายจ้างให้ร่วมรับผิดในมูลหนี้ละเมิดก็ไม่ได้เพราะหนี้ละเมิดระงับไปแล้วจะฟ้องให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมก็ไม่ได้ เพราะนายจ้างมิได้เป็นคู่สัญญาถ้าลูกจ้างไม่มีทรัพย์สินจะชำระหนี้ ผู้เสียหายก็สูญเปล่าจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งทางแก้ในเรื่องนี้ต้องให้นายจ้างตกลงเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความร่วมกับลูกจ้างโดยมีบุคคลค้ำประกันการปฎิบัติตามสัญญาด้วย
3.2. ตัวการต้องรับผิดชอบกับตัวแทนในผลละเมิดซึ่งตัวแทนได้กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทน (ป.พ.พ.ม. 429)
3.3 บิดามารดาของผู้เยาว์หรือผู้อนุบาลของผู้วิกลจริตจะต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่ผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตกระทำเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลแล้ว (ป.พ.พ.มาตรา 429 )
3.4. ครูอาจารย์ นายจ้างหรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ หรือชั่วครั้งคราวจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าครูบาอาจารย์นายจ้างหรือบุคคลอื่นมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร (ป.พ.พ.ม. 430)
3.5 เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายอันเกิดจากสัตว์ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น (ป.พ.พ.ม. 433)
อนึ่งการกระทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายนี้ มีหลักในการวินิจฉัยความรับผิดว่าให้พิจารณาว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดกฎหมายหรือไม่และความเสียหายเกิดจากการกระทำผิดนั้นหรือไม่ถ้าบุคคลนั้นทำผิดกฎหมายและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายบุคคลนั้นก็ต้องรับผิดจากฐานละเมิด
ตัวอย่างเช่นจำเลยแจ้งให้กำนันจับรถยนต์บรรทุกของโจทย์ยึดไว้ 39 วันโดยจำเลยหาว่านางเน้ยเป็นคนร้ายลักข้าวที่บรรทุกอยู่ในรถยนต์ของโจทย์ทั้งๆที่คนรถของโจทย์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วว่ารถคันนี้เป็นของโจทย์เพียงแต่มารับจ้างไม่เกี่ยวข้องกับข้าวเปลือกที่จำเลยกับนายเน้ยโต้เถียงสิทธิกันขออย่ายึดรถไว้ จำเลยไม่ยอมกลับแจ้งให้กำนันยึดรถของโจทย์ไว้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ยืนยันให้กำนันเป็นผู้ยึดรถซึ่งมิใช้ของนายเน้ยผู้ต้องหามาเป็นของกลางโดยความจำเป็นและเป็นการแกล้งโจทย์โดยไม่สุจริต การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทย์จำเลยต้องรับผิด (ฎีกาที่ 1447 /2503)
ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด :
ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการละเมิด ซึ่งที่ได้รับความเสียหายจะพึงได้รับนั้นถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลศาลจะเป็นองค์กรกำหนดค่าสินไหมทดแทนโดยจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิด (ป.พ.พ.ม. 438)
หลักทั่วไปโดยปกติค่าสินไหมทดแทนได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะการละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินรวมทั้งค่าเสียหายอันพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
ตัวอย่างเช่น นาย ก. ลักเอารถจักรยานยนต์รับจ้าง ราคา 50,000 บาท ของนายข.ไปรถคันนี้ นาย ข. นำออกวิ่งรับจ้างได้วันละ 200 บาท ดังนี้ค่าสินไหมทดแทนคือ นายก. ต้องคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่นาย ข. ถ้าคืนไม่ได้ต้องใช้ราคารถ 50,000 บาทแก่นายข. และนาย ข. ยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายวันละ 200 บาทตั้งแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องพร้อมทั้งค่าดอกเบี้ยตั้งแต่วันละเมิดจนถึงวันชำระหนี้ได้ด้วย
บางกรณีกฎหมายกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้โดยเฉพาะดังนี้
1. ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ทำให้เขาถึงตายผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังนี้
(1) ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น เช่นค่ารถบรรทุกศพ ค่าโลงศพค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้วัด ค่าดอกไม้ค่าใช้จ่ายในการบำเพ็ญกุศล
(2) ค่าขาดไร้อุปการะต้องเป็นกรณีค่าขาดอุปการะตามกฎหมายเช่นบิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์บุตรมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เป็นต้น
(3) ค่าขาดแรงงานถ้าผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกแก่ครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าขาดแรงงานให้แก่บุคคลภายนอกด้วย
(4) ถ้ายังไม่ตายทันที เรียกค่ารักษาพยาบาล และค่าประโยชน์ทำมาหากินได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานได้
2. ค่าสินไหมทดแทนในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย
(1) ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็น
(2) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างเจ็บป่วย
(3) ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงาน ทั้งเวลาปัจจุบันและอนาคต เช่นผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจนพิการไม่สามารถประกอบการงานได้
(4) ค่าเสียหายที่ขาดแรงงานในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของคนภายนอก
(5) ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน เช่น ค่าสินไหมที่ต้องตัดขาหน้าเสียโฉมติดตัว ขาพิการ ค่าเสียอนามัยที่ต้องนอนทรมาน เป็นต้น